ศาลหลักเมืองจังหวัดเพชรบูรณ์


ศาลหลักเมืองจังหวัดเพชรบูรณ์



ค่านิยมให้การตั้งเสาหลักเมืองนั้น มีมานานตั้งแต่ครั้งโบราณกาลควบคู่ประวัติศาสตร์ชาติไทยซึ่งจะเป็นพิธีที่จะต้องกระทำในทุกแห่งที่มีการสร้างเมืองใหม่ขึ้นมาเพื่อเป็นศูนย์กลางยึดเหนี่ยวจิตใจของผู้คนในพื้นที่นั้น ๆ ให้เกิดความมั่นใจในความมั่นคงของการเป็นบ้านเป็นเมืองขึ้นมา  ดังนั้น เมื่อเราเดินทางไปเยือนเมืองใดหรือจังหวัดใด  จะเห็นว่าแทบทุกแห่งจะต้องมีเสาหลักเมืองเป็นสถานที่สำคัญและเป็นที่สักการะขอพรของประชาชนในแต่ละแห่งด้วยความเคารพศรัทธาเป็นอย่างยิ่ง  แม้ข้าราชการไม่ว่าระดับใด หากเดินทางไปรับราชการในพื้นที่นั้น ๆ สถานที่แห่งแรกที่จะต้องไปสักการะก็คือ ศาลหลักเมืองนั่นเอง
     เสาหลักเมืองเพชรบูรณ์ก็เช่นเดียวกัน  เป็นสิ่งที่เคารพสักการะและเป็นศูนย์รวมจิตใจชาวเพชรบูรณ์มาช้านาน และตลอดเวลาที่ผ่านมา  เราก็ได้รับทราบแต่เพียงว่า เสาหลักเมืองเพชรบูรณ์นั้น มีลักษณะพิเศษคือเป็นศิลาหินทราย โดยมิได้เป็นไม้อย่างเสาหลักเมืองของที่อื่น ๆ  จนกระทั่ง เมื่อปี พ.ศ. 2548  ผมซึ่งขณะนั้นเป็นนายกเทศมนตรีเมืองเพชรบูรณ์  ได้ทำการบูรณะปรับปรุงอาคารศาลหลักเมืองขึ้นมาใหม่  และได้ทำความสะอาดตัวเสาโดยลอกทองคำเปลวและเอาผ้าที่ห่อหุ้มเสาออกไป  จึงได้เห็นว่า ตัวเสามีร่องรอยการจารึกเป็นตัวอักษรเห็นได้พอสมควรโดยเฉพาะด้านหลัง  จึงนำไปสู่การขอให้กรมศิลปากรมาตรวจสอบ  ซึ่งนักวิชาการด้านอักษรโบราณ ได้มาตรวจสอบลอกลายเมื่อวันที่ 3-4 กันยายน 2548  และเป็นการค้นพบครั้งสำคัญ เพราะพบว่ามีอักษรถูกจารึกอยู่บนหลักศิลานั้นทั้ง 4 ด้านและได้ถูกจารึกไว้นานมากแล้ว เป็นศิลาจารึกที่เก่าแก่มากทีเดียว สร้างความปีติยินดีให้กับผู้เกี่ยวข้องทุกคน เพราะหมายถึง ประวัติศาสตร์หน้าใหม่ของเมืองเพชรบูรณ์กำลังจะถูกไขให้เกิดความกระจ่างมากกว่าที่เป็นอยู่ในทุกวันนี้
     เสาหลักเมืองเพชรบูรณ์ เป็นแท่งเสาหินทรายสีเทา  มีลักษณะปลายป้านโค้งมน  มีความสูงจากฐานล่างถึงปลายยอด  184  เซนติเมตร กว้าง 30 เซนติเมตร ความหนาประมาณ 15-16 เซนติเมตร  มีจารึกอักษรขอมทั้ง 4 ด้าน ปลายฐานด้านล่างสุดมีลักษณะแผ่ขยายออกคล้ายวงกลมแบน
     ปัจจุบันนี้  กรมศิลปากรได้ทำการอ่านและแปลศิลาจารึกเสาหลักเมืองเพชรบูรณ์เป็นที่เรียบร้อยแล้ว  โดยสรุปได้ความว่า เป็นการจารึกลงในเสาหินทรายสีเทาใน 2 ยุคด้วยกันคือ  ครั้งแรกเป็นการจารึกในด้านที่ 1 เป็นอักษรขอมโบราณ ภาษาสันสกฤต มีข้อความ 22 บรรทัด จารึกเมื่อมหาศักราช 943 ตรงกับพุทธศักราช 1564 เป็นข้อความการสรรเสริญพระศิวะในศาสนาพราหมณ์  ส่วนการจารึกครั้งที่ 2 เป็นการจารึกใหม่ในด้านที่เหลือ 3 ด้านเมื่อจุลศักราช 878 ตรงกับพุทธศักราช 2059 เป็นอักษรขอม ภาษาไทย บาลีและเขมร เป็นข้อความเกี่ยวกับพระพุทธศาสนา มีข้อความที่ให้ช่วยกันสืบสานพระพุทธศาสนาให้ได้ 5000 ปี  
     กระดาษลอกลายและสำเนาคำอ่านและคำแปลศิลาจารึกเสาหลักเมืองเพชรบูรณ์ดังกล่าว  สามารถชมได้ที่หอวัฒนธรรมนครบาลเพชรบูรณ์  ซึ่งตั้งอยู่ตรงกันข้างกับศาลเจ้าพ่อหลังเมืองเพชรบูรณ์นั่นเอง
     ในฐานะที่เป็นคนที่สนใจประวัติศาสตร์ของเมืองเพชรบูรณ์ เมื่อก่อนหน้านี้ ผมได้ร่วมกับนักวิชาการในจังหวัดได้พยายามให้ทีมงานศึกษาค้นคว้าวิจัยประวัติศาสตร์เมืองเพชรบูรณ์ ติดตามหาหลักศิลาจารึกเมืองเพชรบูรณ์ ที่ปรากฏหลักฐานในการบันทึกขึ้นทะเบียนโบราณวัตถุของกรมศิลปากรไว้ แต่ปัจจุบันกลับไม่พบศิลาจารึกหลักนี้ถูกเก็บรักษาไว้ที่ใด ประกอบกับบันทึกของกรมศิลปากรเช่นเดียวกันได้บันทึกไว้ว่า เสาหลักเมืองเพชรบูรณ์นั้น หลวงนิกรเกียรติคุณ ได้นำมาตั้งไว้เมื่อ พ.ศ. 2443 และยังมีบันทึกว่ามีการนำเอาเสาศิลาจากวัดมหาธาตุมาปักเป็นเสาหลักเมืองที่ป้อมกำแพงเมืองโบราณของเมืองเพชรบูรณ์ด้านหน้าศาลากลาง ฉะนั้นจากบันทึกทั้ง  3 เรื่องดังกล่าว และจากการสืบสาวเส้นทางตลอดจนคำบอกเล่า จนถึงการค้นพบครั้งนี้ ทำให้แน่ใจว่าเสาหลักเมืองเพชรบูรณ์ ที่ตั้งตระหง่านอยู่ใจกลางเมืองเพชรบูรณ์และเป็นที่เคารพสักการะของชาวเพชรบูรณ์ ที่แท้ก็คือหลักศิลาจารึกที่กำลังตามแกะรอยค้นหากันอยู่ จึงนำไปสู่การตรวจสอบกระทั่งเป็นผลสำเร็จตามข้อสันนิษฐาน
     สิ่งที่ผมพอจะสันนิษฐานเพิ่มเติมเองได้จากการศึกษาบันทึกเอกสารต่าง ๆ และผลคำอ่านคำแปลบนจารึกเสาหลักเมืองเพชรบูรณ์ ก็คือ ศิลาจารึกนี้น่าจะทำการจารึกครั้งแรกที่เมืองเก่าศรีเทพ เพราะระยะเวลาของการจารึกครั้งแรกนี้จะร่วมสมัยกันและเป็นการกล่าวถึงพระศิวะในศาสนาพราหมณ์อย่างที่พบเห็นในเมืองศรีเทพ นอกจากนั้น เนื้อหินทรายสีเทาของเสาหลักเมืองยังเป็นอย่างเดียวกันกับโบราณวัตถุต่าง ๆ ที่พบในเมืองศรีเทพอีกด้วย หลังจากนั้น เมื่อพิจารณาจากปีที่มีการจารึกครั้งที่ 2 สันนิษฐานว่าศิลาจารึกหลักนี้น่าจะถูกเคลื่อนย้ายมาอยู่วัดมหาธาตุในสมัยสุโขทัย แล้วจึงได้มีการจารึกเพิ่มเติมอีก 3 ด้านเป็นข้อความเกี่ยวกับศาสนาพุทธ ซึ่งสอดคล้องกับช่วงเวลาและเหตุการณ์ตามประวัติศาสตร์ หลังจากนั้น จึงได้มีการนำมาปักเป็นเสาหลักเมืองเพชรบูรณ์ที่ป้อมกำแพงเมืองหน้าศาลากลาง ซึ่งก็อาจจะเป็นเมื่อ พ.ศ. 2443 ตามบันทึกของกรมศิลปากรก็เป็นได้ เพราะปรากฎรูปถ่ายที่ถ่ายไว้เมื่อ พ.ศ. 2447 ในคราวที่สมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพฯ ได้เสด็จมาตรวจราชการที่มณฑลเพชรบูรณ์ ก็มีรูปถ่ายศาลและเสาหลักเมืองเพชรบูรณ์ให้ได้เห็นอยู่แล้ว
     อนึ่ง  ผมต้องขอทำความเข้าใจเรื่องประวัติความเป็นมาของเสาหลักเมืองเพชรบูรณ์เสียใหม่ กล่าวคือ ตามประวัติเสาหลักเมืองเพชรบูรณ์ที่ได้มีการบันทึกกันอย่างเป็นทางการไว้ว่า  เป็นเสาหินที่ สมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพได้ทรงนำมาจากเมืองศรีเทพนั้น  น่าจะเป็นการคลาดเคลื่อน  เพราะตามบันทึกของพระองค์ท่าน  ได้บันทึกไว้ว่าเสด็จเดินทางมาเพชรบูรณ์ทางบกผ่านจังหวัดพิจิตร  และเสด็จกลับจากเพชรบูรณ์ทางเรือ ผ่านไปค้นหาเมืองเก่าทีศรีเทพ แล้วจึงกลับกรุงเทพ ฯ ฉะนั้น  จึงคงไม่สามารถทรงนำเสาหลักเมืองย้อนกลับมาจากศรีเทพแล้วนำกลับมาไว้ที่เพชรบูรณ์ได้อีก   ในทางกลับกัน สมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพได้ทรงนำเสาศิลารูปหัวตะปูที่ไปจากเมืองเก่าศรีเทพจริงและยังได้ทรงสันนิฐานไว้ว่าน่าจะเป็นเสาหลักเมืองศรีเทพด้วยนั้น  ปัจจุบันเสาดังกล่าวก็ยังคงเก็บรักษาไว้ที่พิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติพระนครอยู่  ฉะนั้น ตามบันทึกประวัติอย่างเป็นทางการของเสาหลักเมืองเพชรบูรณ์ที่ว่า เป็นเสาหินที่ สมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพได้ทรงนำมาจากเมืองศรีเทพนั้น จึงน่าจะเป็นการบันทึกสับสน ไม่ถูกต้องและยังคงสืบทอดกันมาอย่างผิด ๆ จนทุกวันนี้
     บทความนี้  เป็นเพียงข้อสันนิษฐานจากการศึกษาส่วนตัว  มิได้มีวัตถุประสงค์ที่จะสรุปหรือยืนยันความถูกต้องชัดเจนแน่นอนถึงประวัติและที่มาของเสาหลักเมืองเพชรบูรณ์แต่อย่างใดไม่  แต่มีวัตถุประสงค์เป็นเพียงต้องการจะเล่าและบันทึกเหตุการณ์ประวัติศาสตร์ที่ได้เกิดขึ้นจริงในยุคนี้เอาไว้  เพื่อรอคอยหลักฐานเพิ่มเติมและการค้นพบใหม่ ๆ ที่จะสามารถนำมาพิจารณาร่วมกับหลักฐานทางโบราณคดีในอดีต  อันจะนำไปสู่การไขปริศนาสำคัญของเสาหลักเมืองเพชรบูรณ์  ซึ่งจะสามารถโยงมาถึงการสืบค้นประวัติเมืองเพชรบูรณ์เพิ่มเติมต่อไปในอนาคต